: : : กนกหางโต

ลายกระหนกหางโต
เป็นแม่ลายลำดับที่ ๔
ได้ความคิดประดิษฐ์ลายมาจากรูปทรงพู่หางสิงโต
นำมาเขียนเป็นลายกระหนก
ในรูปทรงของกระหนกสามตัวเรียก ลายหางสิงโต
เพื่อให้กะทัดรัดในการเรียกชื่อ
จึงตัดคำว่า สิง ออกเรียกว่า ลายกระหนกหางโต
และชื่อของลายนี้จะไปใกล้เคียงกับชื่อของ
ลายช่อกระหนกหางโต ฉะนั้น เวลาเขียนลาย
แต่ละลายต้องจำว่า ลายกระหนกหางโต
อยู่ในรูปทรงกระหนกสามตัว
ส่วนลายช่อกระหนกหางโตจะอยู่ในทรงพุ่มช่อ
มีก้านต่อลงมา

รูปทรงของกระหนกหางโต
.........อยู่ในรูปทรงเดียวกับกระหนกใบเทศ
ซึ่งมาจากรูปทรงกระหนกสามตัว แบ่งตัวลาย
ออกเป็น ๓ ส่วน ในแต่ละส่วนแบ่งออกเป็นก้าน
ใช้ใบเทศติดที่ปลายก้านทั้ง ๓ ส่วน
และแบ่งเป็นลายแข้งสิงห์เกาะติดก้าน
.........ข้อแตกต่างระหว่างลายกระหนกหางโต
กับลายกระหนกใบเทศ คือ ปลายก้านรูปทรงใบเทศ
ในลายกระหนกหางโต จะเขียนเป็นกระหนกกลับตัว
ปลายยอดสะบัดพริ้ว ส่วนลายกระหนกใบเทศ
ปลายก้านทั้ง ๓ ส่วนเป็นรูปทรงใบเทศ สอดไส้
บากลาย ปลายยอดสะบัดเช่นเดียวกัน

: : : กนกใบเทศ

ลายกระหนกใบเทศ
เป็นแม่ลายกระหนกอันดับที่ ๓
ในขบวนแม่ลายกระหนกทั้งสี่
ประดิษฐ์มาจากใบฝ้ายและเถาไม้
นำมาเขียนผูกเป็นลาย

รูปทรงของกระหนกใบเทศ
.. . . . .. . .มีรูปทรงและการแบ่งตัวลาย
เหมือนกระหนกสามตัว การเพิ่มรายละเอียด
หรือส่วนประกอบตัวลายใช้ใบเทศ และ ลายแข้งสิงห์
เกาะติดก้าน สอดไส้ บากลาย ปลายยอดใบเทศ
สะบัดพริ้วเหมือนปลายยอดลายกระหนกสามตัว

: : : กนกเปลว


ลายกระหนกเปลว
เป็นแม่ลายกระหนกอันดับที่ ๒ ในขบวนแม่ลายทั้งสี่
ได้รับความบันดาลใจและประดิษฐ์ขึ้นมาจากยอดสะบัด
ของเปลวเพลิง จึงเรียกชื่อลายว่า "กระหนกเปลวเพลิง"
ตามลักษณะของเปลวเพลิง
เพื่อให้กะทัดรัดในการเรียกชื่อ จึงตัดคำว่า เพลิง ออก
คงเหลือเพียงชื่อ "กระหนกเปลว"
.
รูปทรงของลายกระหนกเปลว
.........มีรูปทรงและส่วนประกอบตัวลายเหมือนลายกระหนกสามตัว
แต่มีข้อแตกต่างกันคือ
๑. ตัวเหงา เป็นลายที่อยู่ตอนล่างและอยู่ข้างหน้า
ตัดจงอยโค้งขมวดก้นหอยออก เขียนลื่นไหลเป็นกาบล่าง
สำหรับรองรับกาบลายส่วนที่ ๒ และ ตัวยอด ส่วนที่ ๓
๒. กาบ หรือ ตัวประกบหลัง เป็นลายส่วนที่ ๒
เขียนประกบอยู่หลังตัวเหงา เป็นตัวลายที่จะส่งให้เกิดลาย
ส่วนที่ ๓ หรือเรียกตัวยอด รูปทรงโค้งขมวดก้นหอย
บากลาย เหมือนกาบของลายกระหนกสามตัว
๓. ตัวยอด ลักษณะเป็นเปลวอยู่ยอดสุด ตัดจงอยโค้ง
ขมวดก้นหอยออก เขียนลื่นไหลไปหายอด สอดไส้
บากลาย ยอดสะบัด และเพิ่มกาบหุ้มที่โคนเถาลาย

: : : กนกสามตัว

.

ลายกระหนกสามตัว
เป็นแม่ลายอันดับที่หนึ่งในแม่ลายทั้งสี่
อาจารย์บางท่านเรียกว่า กระหนกกินนร
หรือ กระหนกกินรี และ กระหนกหางหงส์
ที่เรียกเช่นนี้เพราะส่วนหางของกินนร กินรี และ หงส์
มีหางเป็นรูปลายกระหนกสามตัว
จึงเรียกตามที่ลายกระหนกไปใช้ประกอบอยู่
แต่ชื่อที่แท้จริงของลายนี้ก็คือ ลายกระหนกสามตัว
.
ลายกระหนกสามตัว
ถือเป็นต้นแบบของลายกระหนกทุกชนิด
เช่น ลายกระหนกเปลว ลายกระหนก
ใบเทศ และลายกระหนกหางโต เป็นต้น
ถ้าจะแบ่งหรือบากตัวลายให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
ก็ต้องแบ่งในรูปลักษณะของลายกระหนกสามตัวทั้งสิ้น


รูปทรงของลายกระหนกสามตัว
........อยู่ในรูปสามเหลี่ยมมุมฉากด้านไม่เท่า มีส่วนสูง
ยาวกว่าส่วนกว้าง หรืออยู่ในรูปทรงดอกบัวครึ่งซีก
ในการเขียนรูปลายกระหนกสามตัว จะต้องเขียนตัวลาย
รวมกันสามส่วนและตัวลายแต่ละส่วนก็มีชื่อกำหนดไว้ คือ
๑. ตัวเหงา เป็นลายที่อยู่ตอนล่างและอยู่ข้างหน้า
มีโครงสร้างขมวดก้นหอยคว่ำหน้าลงปลายยอดตั้งขึ้น
แสดงความรู้สึกเศร้า ๆ เหงา ๆ เป็นตัวรองรับกาบ
และตัวยอด นับเป็นลายตัวต้นและเป็นส่วนที่หนึ่ง
๒. กาบ หรือ ตัวประกบหลัง เขียนประกบอยู่ข้างหลัง
ตัวเหงา เป็นตัวลายที่จะส่งให้เกิดลายส่วนที่สาม
หรือเรียก ตัวยอดนับเป็นลายส่วนที่สอง
๓. ตัวยอด ลักษณะเป็นเปลวอยู่ยอดสุด มีลักษณะ
พิเศษกว่าตัวลายสองส่วนที่กล่าวมาคือ เขียนให้
ปลายยอด สะบัดอ่อนไหวคล้ายเปลวไฟ
ที่โคนเถาลายมีกาบหุ้ม
เมื่อเอาตัวลายทั้งสามส่วนมาประกอบรวมกัน
จะเป็นลายกระหนกสามตัว